4 กลุ่มโรคร้ายสุดฮิตที่พบในคนไทยบ่อยๆ

2315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 กลุ่มโรคร้ายสุดฮิตที่พบในคนไทยบ่อยๆ

โรคมะเร็ง

          จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน เช่น การกินอาหารที่เน้นเร็ว ไม่เน้นสุขภาพ รวมทั้งการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งกลายเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2018 พบว่า ในทุกๆ หนึ่งชั่วโมง จะมีหญิงไทยเป็น “มะเร็งเต้านม” เพิ่มขึ้น 2.2 คน หรือเฉลี่ยมากถึง 53 คน/วัน หากได้รับการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี มากกว่า 80% ดังนั้น หากคุณผู้หญิงมีอายุเข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปี แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับการทำอัลตราซาวน์ ซึ่งการตรวจนั้นสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 20% เลยทีเดียว นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตด้วย “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ของคนไทยมีเพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่าตัว พบมากโดยเฉพาะคนที่อาศัยในเขตเมือง ซึ่งน่าจะมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีผักน้อย เน้นเนื้อและมีไขมันสูง ใครสายปิ้งย่าง ลดได้ลดนะ เพราะการกินเนื้อแดง เนื้อปิ้งย่างมากๆ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้นั่นเอง



โรคความดันโลหิตสูง

          โรคร้ายยอดฮิตของผู้สูงอายุอีกหนึ่งโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคไต หลอดเลือดตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ ซึ่งความดันโลหิตสูงนั้นถือว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตอย่างมาก เพราะไม่มีอาการเตือนใดๆ รู้ตัวอีกทีก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว  ดังนั้นการจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่นั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาที่เหมาะสม

          โดยอาการของโรคความดันโลหิตสูงนั้น ผู้ป่วยจะมีระดับค่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งคนปกติจะมีค่าความดันโลหิตประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะความดันโลหิตเพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก จึงต้องตรวจสุขภาพประจำปีและหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของตนเองด้วย หากใครรู้สึกเจ็บหน้าอกรุนแรง ใจสั่น เหนื่อยง่ายผิดปกติ ปวดศีรษะเฉียบพลัน หรือมีอาเจียนร่วมด้วย แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงระยะอันสั้นแล้วหายเอง และตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นและอาจกลับเป็นมาปกติหลังจากนั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดจะดีที่สุด


โรคเบาหวาน

          แม้ชื่อโรคจะหวาน แต่ถ้าเป็นแล้วไม่หวานอย่างที่คิด เพราะโรคเบาหวานเป็นภัยเงียบอีกโรคที่ไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากๆ ค่อยมีอาการแสดงออกมา เช่น ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน ปัสสาวะมีมดมาตอม กระหายน้ำบ่อย ตามัวมองไม่ชัด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และแผลหายช้า ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา โรคของระบบประสาท รวมถึงโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย เป็นต้น

          ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจึงมีความจำเป็น เพื่อเป็นการป้องกันหรือรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ ตอนที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยผู้ที่ควรได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานนั้น ควรมีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีภาวะโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กก./เมตร2) มีประวัติพ่อ แม่ พี่หรือน้องเป็นโรคเบาหวาน มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ไตรกลีเซอไรด์ > 250 มก./ดล. และ/หรือ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล < 35 มก./ดล. นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีประวัติโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรไปตรวจคัดกรองเพื่อความชัวร์ก็ดี


โรคหัวใจ

          ไม่เคยหยุดรัก คำนี้คงใช้กับหัวใจได้ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานตลอดเวลาแบบไม่หยุดพักจนกระทั่งเราเสียชีวิตเลยทีเดียว โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 20,855 คน หรือมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 2 คน ในทุก 1 ชั่วโมง และดูท่าว่าสถิตินี้จะมีแต่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุหลักมักมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

          โดยปัจจัยหลักๆ ของการเป็นโรคหัวใจนั้น เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น พักผ่อนน้อย นอนหลับไม่ถึง 6 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ การกินอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย จนน้ำหนักเกินมาตรฐาน การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด รวมถึงเครียดสะสม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เร่งให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ง่ายมากๆ ใครมีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้น ควรปรับพฤติกรรมเพื่อถนอมหัวใจดวงน้อยของเราให้แข็งแรงไปนานๆ นั่นเอง


สยามสไมล์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้