832 จำนวนผู้เข้าชม |
การทานฟาสต์ฟู้ดหรือการดื่มแอลกอฮอล์สุดเหวี่ยงในคืนวันหยุด อาจเป็นเรื่องปกติของคนยุคใหม่หลาย ๆ คน แต่อย่าลืมคำนึงถึงว่าพฤติกรรมดังกล่าว อาจส่งผลให้ร่างกายตกอยู่ใน “ภาวะไขมันพอกตับ” ประตูสู่การเกิด “มะเร็งตับและโรคตับแข็ง” ได้ง่ายมากขึ้นโดยปกติแล้วไขมันที่ร่างกายได้รับจะถูกเผาผลาญที่ตับและเนื้อเยื่ออื่น ๆ แต่หากร่างกายได้รับมากเกินความจำเป็นจะถูกสะสมที่ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และพัฒนากลายเป็น “ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver)” ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองตกอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ อาจตรวจพบความผิดปกติจากการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ โดยในบางรายอาจพบอาการได้ดังนี้
-เหนื่อยบ่อย อ่อนเพลีย และไม่มีแรง
-มีอาการไม่สบายท้อง ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา
-มีอาการคลื่นไส้ น้ำหนักลดผิดปกติ และอยากอาหารน้อยลง
-สมาธิสั้นลง มึนงง และความสามารถในการตัดสินใจต่ำลง
สาเหตุการเกิด “ภาวะไขมันพอกตับ”
1. การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน หรือดื่มมากเกินไป
2. ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินไป
3. โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญไขมัน
4. ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
5. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะอดอาหาร ( severe starvation ), ผ่าตัดกระเพาะ ( gastric bypass )
6. ได้รับอาหารที่ให้พลังงานสูงทางหลอดเลือดดำ ( parenteral nutrition )
7. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาทิ ยาปฏิชีวนะบางตัว ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยากลุ่มฮอร์โมน เป็นต้น
ใครบ้างเสี่ยงเป็น “ภาวะไขมันพอกตับ”
-ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ชายรอบเอว 40 นิ้วขึ้นไป และ ผู้หญิง รอบเอว 35 นิ้วขึ้นไป
-ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
-ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
-ผู้ที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือดัชนีมวลกายมากกว่า 30 kg/m2
การตรวจหาเพื่อทำการรักษาภาวะไขมันพอกตับ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด การอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือแม้แต่การเจาะชิ้นเนื้อ แต่อีกหนึ่งวิธีที่เป็นที่นิยม เพราะไม่ต้องเจ็บตัว รวมถึงยังสามารถตรวจหาก่อนเกิดอาการป่วยได้อีกด้วย คือ การตรวจด้วยเครื่อง “Fibroscan” เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยตรวจหาปริมาณไขมันสะสมในตับและพังผืดในเนื้อตับ โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที เพิ่มโอกาสการรักษาและลดภาวะเสี่ยงจากการตรวจหารูปแบบเดิม
แต่อย่างไรแล้ว การดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก และอาหารให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือการป้องกันการเกิดไขมันพอกตับที่ได้ผลดีที่สุด แต่หากพบว่าตนเองมีอาการที่บ่งชี้ถึงการตกอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/?page
สยามสไมล์